Social Icons

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไฝ...แฝงอันตราย อาจกลายเป็นเนื้อร้าย ก่อมะเร็ง


ไฝ...แฝงอันตราย อาจกลายเป็นเนื้อร้าย ก่อมะเร็ง

กลายเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงไม่น้อย เมื่อคุณลุงเกี๊ยง หรือ นายเกี๊ยง ชำนาญเขียว อายุ 70 ปี ไฝแตกที่ข้างแก้ม แต่ไม่ยอมไปหาหมอ หนำซ้ำยังซื้อยารักษาอาการด้วยตนเอง เวลาที่แผลมีหนองก็จะใช้เข็มเจาะเพื่อเอาหนองออก และเนื้อส่วนไหนตายก็จะใช้กรรไกรตัดเล็บตัดออก จนแผลของลุงเกี๊ยงเริ่มลุกลาม ทำให้ใบหน้าหายยุบเข้าไป เป็นที่น่าเวทนาของผู้ที่พบเห็นยิ่งนัก

          ทั้งนี้ ทางด้าน ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวถึงกรณีลุงเกี๊ยงว่า ลักษณะจุดดำคล้ายไฝของลุงเกี๊ยง จริง ๆ แล้วเซลล์ชนิดนี้คือมะเร็งชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า "มะเร็งไฝ" มักจะขึ้นตามใบหน้าและใบหู โดยเฉพาะจุดใกล้ ๆ จมูก เช่นเดียวกับลุงเกี๊ยง ซึ่งหากไม่พบแพทย์ เซลล์ตัวนี้ก็จะกินเนื้อผิวหนังไปเรื่อย ๆ หรือทีเรียกกันว่า "แผลหนูแทะ" ในทางการแพทย์เรียกว่า "Basal Cell" 

          สำหรับคนไทยมักจะเป็นกันมากในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และกรรมกร ที่ทำงานอยู่กลางแดดมาตลอดชีวิต พออายุมากขึ้นก็จุดดำดังกล่าวก็จะขึ้นตามใบหน้า ใบหู หรือบางคนก็ขึ้นที่ศีรษะ ซึ่งต้องคอยสังเกตอาการ ถ้าหากขึ้นมาแล้วไม่หาย ให้ไปพบแพทย์ และแพทย์ก็จะทำการตรวจด้วยกล้องเดอโมสโคป โดยในเบื้องต้นจะระบุได้เลยว่า จุดดำดังกล่าวเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ถ้าใช่แพทย์ก็จะทำการตัดออกและทายา ซึ่งสามารถรักษาหายได้ แต่คนไข้ส่วนใหญ่มักไม่ทราบ และแยกไม่ออก เพราะคิดว่าจุดดำดังกล่าวเป็นไฝธรรมดา จึงไม่มาพบแพทย์ เพราะไม่คิดว่าจะเป็นโรคร้าย พอนาน ๆ เข้าก็จะลุกลามกินเนื้อเหมือนหนูแทะไปเรื่อย ๆ 

          ศ.นพ.ประวิตร เผยถึงวิธีดูว่าจุดดำดังกล่าว เป็นไฝหรือเนื้อร้ายด้วยว่า ถ้าหากเป็นไฝธรรมดา ก็จะโตถึงจุดหนึ่งแล้วจะหยุด และจะต้องมีไม่เกิน 100 เม็ด ส่วนเด็กต้องมีไม่เกิน 50 เม็ด ซึ่งถ้าหากไฝมีสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ และมีรอยนูนใหญ่ขึ้น ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเซลล์สี หรือเมลาโนมาอีกด้วย 

สำหรับวิธีสังเกตไฝ ที่มีลักษณะผิดปกติ

           1. ไฝที่เกิดการระคายเคืองบ่อย ๆ
           2. ไฝในบริเวณที่สังเกตได้ยาก เช่น บนหนังศีรษะ หรืออวัยวะเพศ
           3. ไฝที่มีมาแต่กำเนิดและขนาดใหญ่ เช่น ไฝยักษ์ (Giant congenital melanoma)
           4. ไฝที่มีสีดำเข้มผิดปกติกว่าที่อื่น ๆ
           5. ไฝที่เปลี่ยนสีอย่างกะทันหัน
           6. ขอบไฝไม่เรียบ
           7. ไฝที่มีขนาดใหญ่เกิน 5 มิลลิเมตร
           8. ไฝที่เปลี่ยนแปลงขนาดและโตขึ้นเร็วในระยะเวลาอันสั้น
  
          อย่างไรก็ดี ทางการแพทย์ระบุว่า คนไทยส่วนมากที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ ประมาณปีละ 340 คน ส่วนมากจะเกิดกับคนผิวขาวที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งหากทำงานที่ต้องถูกแดดมาก ก็จะมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นควรสังเกตขนาดและความผิดปกติว่าจุดดำดังกล่าว เป็นเพียงแค่ไฝธรรมดา หรือมะเร็งร้ายกันแน่