Social Icons

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ฝึกสติในชีวิตประจำวัน




หลายคนมีความสนใจเรื่องการฝึกสติ แต่มักจะคิดว่าทำได้ยากในชีวิตประจำวัน ซึ่งความจริงแล้วการฝึกสตินั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินกว่าจะทำได้เลย แต่เพราะชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันบีบให้คนใฝ่หาแต่วัตถุ จนลืมที่จะดูแลจิตใจให้กลับมามีสติอยู่กับปัจจุบัน 
    
มีแนวคิดที่น่าสนใจในการฝึกสติของพระอาจารย์ชาวเวียดนาม ติช นัท ฮันห์ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คำสอนบางส่วนของท่านสามารถประยุกต์มาใช้ให้เหมาะกับชีวิตการทำงานและส่วนตัว โดยเฉพาะการฝึกสติในชีวิตประจำวัน
    
วิธีที่พระอาจารย์สอนให้คนทุกเพศทุกวัยฝึกสติ คือ “การภาวนากับก้อนกรวด” เป็นวิธีการง่ายๆ ที่มีความสุข เริ่มจากมีถุงเล็กๆ สำหรับเก็บก้อนกรวด 4 ก้อน เมื่อต้องการทำสมาธิภาวนาให้หยิบถุงนี้ขึ้นมา เมื่อเริ่มภาวนาก็หยิบก้อนกรวดก้อนแรกขึ้นมาประสานไว้บนมือ ให้ก้อนกรวดก้อนนี้เป็นตัวแทนของ “ดอกไม้” หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งดอกไม้ หายใจออก ฉันสดชื่น การภาวนาเช่นนี้เป็นการฟื้นฟูความสดชื่น แจ่มใส เหมือนดอกไม้ในตัวเราได้เบ่งบานอีกครั้ง 
    
หลังจากภาวนาก้อนกรวดก้อนแรกเสร็จก็วางก้อนกรวดนี้ลงแล้วหยิบก้อนกรวดก้อนที่สองขึ้นมา โดยให้เป็นตัวแทนของ “ภูเขา” คือความมั่นคงในตัวเรา หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งขุนเขา หายใจออก ฉันมั่นคง เพราะถ้าหากเราปราศจากความมั่นคงหนักแน่นแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะมีความสุขได้ เมื่อเราเป็นคนอ่อนไหวเราก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ใครได้รวมถึงตัวเราเองด้วย ฉะนั้นการภาวนาในเรื่องนี้จึงสำคัญมาก 
    
ก้อนกรวดก้อนที่สามคือตัวแทนของ “น้ำใส” เราจะภาวนาว่า หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งน้ำใส หายใจออก ฉันสะท้อนสิ่งต่างๆ ดั่งที่มันเป็น เมื่อเราโกรธ อิจฉา หรืออยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง เราไม่สามารถที่จะมองสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เราอาจมีความคิดเห็นที่ผิดและมีอคติต่อสิ่งนั้น การภาวนาเช่นนี้ช่วยบ่มเพาะความนิ่ง ใส ชัดเจน ไม่บิดเบือน ให้แก่ตัวเรา 
    
ก้อนกรวดก้อนสุดท้ายเป็นตัวแทนของ “ความว่าง” หายใจเข้า ฉันเป็นดั่งความว่าง หายใจออก ฉันเป็นอิสระ ความว่างในที่นี้ หมายถึง พื้นที่ว่างในหัวใจและพื้นที่ว่างรายล้อมเรา เมื่อเรารู้สึกเป็นอิสระ เราจะมีพื้นที่มากมายแบ่งปันผู้อื่น เราจะพร้อมที่จะให้พื้นที่กับผู้อื่นโดยเฉพาะบุคคลที่เรารัก หลายครั้งความรักของเรามักเป็นกรงขัง ฉะนั้นเมื่อเรารักใครสักคนเราต้องคอยดูอยู่เสมอว่าเราได้ให้ที่ว่างแก่เขามากพอหรือไม่ อย่าทำให้ความรักของเรากลายเป็นกรงขัง 
    
พระอาจารย์นัท ฮันห์ ยังมีคำแนะนำให้ฝึกปฏิบัติ เพื่อเป็นการดูแลจิตใต้สำนึก คือ

  1. บริโภคอย่างมีสติ   
  2. สร้างพลังแห่งสติให้เข้มแข็ง ด้วยการอุทิศเวลาให้กับการฝึกปฏิบัติ เช่น กินอาหารอย่างมีสติ เดินอย่างมีสติ เป็นต้น
  3. ไม่เก็บกดอารมณ์ของเรา
  4. อนุญาตให้อารมณ์ของเราขึ้นมา พร้อมโอบรับด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งสติ
  5. รดน้ำเมล็ดพันธุ์ที่ดีๆ เช่น การฟังบรรยายธรรม บริโภคและสัมผัสสิ่งที่ดีงาม
การฝึกสติด้วยการภาวนาเป็นประจำทุกวัน หรือทุกครั้งที่มีโอกาสจะช่วยฟื้นฟูจิตใจให้เติบโต เข้มแข็ง พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ และมีความสุขได้กับชีวิตปัจจุบัน