Social Icons

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เสริมสุขภาพด้วยอาหารฟังก์ชั่น ทางเลือกใหม่การดำเนินชีวิตสดใส


เสริมสุขภาพด้วยอาหารฟังก์ชั่น ทางเลือกใหม่การดำเนินชีวิตสดใส

 ในยุคที่สาว ๆ ทุกคนต้องการมีสุขภาพดี ดูดีและแข็งแรงอยู่เสมอ อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา ได้แนะแนวทางการเสริมสุขภาพด้วยอาหาร หลังกลับจากการไปประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกา ณ เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าปัจจุบันแนวคิดการใช้อาหารดีส่งผลดีต่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตและสุขภาพของเรามากขึ้น การกินที่ดีนั้นหมายถึงการที่ร่างกายควรได้สารอาหารครบถ้วน อาจไม่จำเป็นต้องครบใน 1 มื้อ แต่ให้ดูโดยรวมทั้งวัน หรือทั้งอาทิตย์ เฉลี่ยแล้วครบก็ถือว่ามีหลักการกินที่ดีที่จะส่งเสริมสุขภาพ 

          อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของอาหารนอกจากจะให้พลังงานและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว ยังอาจมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ทางสุขภาพ แต่ไม่ให้พลังงานและไม่ให้คุณค่าทางโภชนาการ (Non-nutrients) เหมือนกับอาหารหลัก 5 หมู่ เช่น สารพฤกษเคมี  (Phytonutrients) ที่ได้จากพืชบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทานโรค หรือควบคุมการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน เป็นต้น เราเรียกอาหารเหล่านี้ว่า อาหารฟังก์ชั่น (Functional foods)

          อาหารฟังก์ชั่น หมายถึงอาหารหรือสารอาหารชนิดใด ๆ ที่อยู่ในรูปธรรมชาติหรือที่ถูกแปรรูปไปเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพนอกเหนือจากประโยชน์ที่ได้รับจากสารอาหารหลักที่กินกันในชีวิตประจำวัน และยังมีสารที่อาจมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในการป้องกันโรคบางชนิด เพิ่มภูมิต้านทานโรค ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้น อาหารธรรมชาติหลาย ๆ ชนิดจัดเป็นอาหารฟังก์ชั่น เช่น เห็ดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีโปรตีนสูง อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามินบีสูงและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะเห็ดทางการแพทย์ (Medicinal mushrooms) เช่น เห็ดไมตาเกะ (Maitake) ที่อุดมไปด้วยสารกริโฟแลน (Grifolan) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติในเห็ดชนิดนี้และมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายเพิ่มเติมนอกเหนือจากคุณค่าโภชนาการตามปกติที่มีอยู่

          มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่าสารชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีอาหารฟังก์ชั่นอื่น ๆ อีกมากมายที่มาจากผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น บิลเบอร์รี่และผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่อื่น ๆ มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ สารโปรแอนโธไซยานิดินส์ หรือพรุนมีกรดนีโอโคลโรเจ็นนิค (neochlorogenic acid) และกรดโคลโรเจ็นนิค (chlorogenic acid) เป็นสารแอนติออกซิแดนต์และมีใยอาหารสูงมาก เป็นต้น

          ปัจจุบันวิวัฒนาการอาหารฟังก์ชั่นก้าวไปไกล ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นที่เอื้อความสะดวกแก่ ผู้บริโภค ประเภทเครื่องดื่มฟังก์ชั่นที่ชาวจีนนิยมใช้กันมานาน เช่น รังนกอีแอ่นกินรัง โดยแพทย์จีนใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยา เพราะเชื่อกันว่ารังนกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี ช่วยให้อายุยืน และต่อต้านความชรา นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ในการฟื้นฟูสุขภาพจากการเจ็บป่วย ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงสุขภาพเด็กที่ไม่แข็งแรง เสริมสุขภาพการย่อยและการดูดซึม 
 ปัจจุบันการศึกษาในระดับโมเลกุลพบว่า รังนกที่ผลิตจากน้ำลายของนกอีแอ่นกินรังประกอบไปด้วย สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เรียกว่า สารไกลโคโปรตีนที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโน เซอรีน ทรีโอนีน และโปรลีน เป็นต้น จากผลการวิจัยพบว่าในสารสกัดที่ได้จากรังนกนั้นประกอบด้วยสารอีพิเดอร์มอลโกรธแฟกเตอร์ [Epidermal Growth Factor (EGF)] ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของผิวหนังกำพร้าและเยื่อบุต่าง ๆ นอกจากนี้คณะนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น พบว่ารังนกมีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส โดยไกลโคโปรตีนที่มีในรังนกจะไปจับเชื้อไวรัส และยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส จึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้เมื่อกินในปริมาณที่เพียงพอ
    
          จะเห็นว่าทั้งอาหารหลักและอาหารฟังก์ชั่นต่างมีบทบาทที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพที่ต่างกัน อาหารฟังก์ชั่นไม่สามารถใช้ทดแทนอาหารหลักได้ แต่สามารถเสริมการทำงานอาหารหลักหากมีการใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันสมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ประเมินประโยชน์อาหารต่าง ๆ ทั้งจากสารอาหารและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพโดยใช้ข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ประเมินประโยชน์จากแค่คุณค่าทางโภชนาการ จึงไม่ควรนำอาหารหลักและอาหารฟังก์ชั่นมาเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น 

          ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ยากหากจะผสมผสานการใช้อาหารฟังก์ชั่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพ ผู้บริโภคควรติดตามศึกษาหาความรู้จากงานวิจัยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เลือกอาหารให้เหมาะกับความต้องการของสภาพร่างกาย หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะมีสุขภาพดีได้ตลอดชีวิต